การกระจายอำนาจทางการคลังสู่ท้องถิ่น

สรุปสาระสำคัญร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือภาษีทรัพย์สิน

บทนำ
ในส่วนของบทนำนี้จะเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับหลักการภาษีข้อเท็จจริงบางประการเกี่ยวกับภาษีของประเทศไทยและต่างประเทศเพื่อเชื่อมโยงให้เข้าใจถึงปัญหาการจัดเก็บภาษีของประเทศไทยที่เป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างขึ้นภาษี หมายถึง การโยกย้ายผลผลิตที่เอกชนผลิตขึ้นได้หรือรายได้ของเอกชน ไปสู่มือของรัฐบาล (Say, 1964 อ้างถึงใน Hoppe, 2006)เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์หลากหลาย เช่น การสร้างความเป็นธรรมทางสังคม การหารายได้เข้ารัฐเพื่อจัดสวัสดิการสาธารณะ การสร้างความมั่นคงให้แก่รัฐ เป็นต้น โดยเราอาจแบ่งภาษีออกเป็นชนิดต่างๆ ได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น แบ่งตามหน่วยจัดเก็บ แบ่งตามการจัดเก็บต่อรายได้ หรือแบ่งตามฐานภาษี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจงานศึกษาชิ้นนี้จะยึดเอาวิธีการแบ่งตามหน่วยจัดเก็บเป็นสำคัญ

หากพิจารณาภาษีของประเทศไทยที่ถูกจัดเก็บโดยรัฐบาลส่วนกลางจะพบว่า ภาษีส่วนใหญ่ที่จัดเก็บได้นั้น มาจากการจัดเก็บโดยกรมสรรพากร โดยมีมูลค่ากว่าร้อยละ 64 ของมูลค่าการจัดเก็บภาษีโดยรวมที่ได้ในปี พ.ศ. 2553 (ดู ภาพที่ 1) ตัวเลขการจัดเก็บสูงสุดสามอันดับแรกของหน่วยงานนี้ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม คิดเป็นมูลค่า 502,245.07 ล้านบาท ภาษีเงินได้นิติบุคคลคิดเป็นมูลค่า 454,533.07 ล้านบาท และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคิดเป็นมูลค่า 208,222.64 ล้านบาท